ไผ่ เป็นไม้พุ่มหลายชนิดและหลายสกุลใน วงศ์หญ้า Poaceae (เดิมคือ Gramineae) วงศ์ย่อย Bambusoideae เป็นไม้ไม่ผลัดใบใน ขึ้นเป็นกอ ลำต้นเป็นปล้องๆ เช่น ไผ่จีน (Arundinaria suberecta Munro) ไผ่ป่า (Bambusa arundinacea Willd.) ไผ่สีสุก (B. flexuosa Munro และ B. blumeana Schult.) ไผ่ไร่ (Gigantochloa albociliata Munro) ไผ่ดำ (Phyllostachys nigra Munro).
ผลผลิตจากไผ่ที่สำคัญคือ หน่อไม้ ซึ่งเป็นอาหารสำคัญของคนไทย นิยมทานกันมากในเกือบทุกภาคของประเทศไทย โดยเฉพาะภาคเหนือและอีสาน นอกจากนี้ไม้ไผ่ยังมีคุณสมบัติพิเศษทั้งด้านความแข็งแรงและยืดหยุ่นที่เหนือกว่าวัสดุสังเคราะห์หลายชนิด ดังนั้นจึงยังได้รับความนิยมในการทำเครื่องมือเครื่องใช้หลายประเภท ใช้ชะลอน้ำที่เข้าป่าชายเลน นั่งร้านก่อสร้างและบันได เป็นต้น
ประโยชน์จากไม้ไผ่ ไม้ไผ่ เป็นไม้ที่ขึ้นง่ายและเติบโตเร็ว ขึ้นได้ดีในทุกสภาวะอากาศดำรงอยู่ได้ในพื้นดินทุกชนิด ที่สำคัญคือ ไผ่เป็นพันธุ์ไม้ที่อำนวยประโยชน์หลายประการ ทั้งประโยชน์ทางตรงและทางอ้อม และเป็นพืชที่ลำต้นกิ่งมีลักษณะแปลกสวยงาม ไผ่เป็นไม้ที่ตายยาก ถ้าไผ่ออกดอกเมื่อใดจึงจะตาย แต่ก็ยากมากและนานมากที่ไผ่จะออกดอก ไม้ไผ่มีประโยชน์มากกับคนเราคนเราสามารถนำไม้ไผ่มาสร้างบ้านที่อยู่อาศัย และทำเครื่องจักสานอื่นๆอีกมากมายสำหรับไม่ไผ่นั้นใช้ได้ทุกส่วนตั้งแต่ หน่อ ลำต้น ใบ ราก เยื่อไผ่ ขุยไผ่ มีประโยชน์ใช้สอยในชีวิตประจำวัน ในปัจจุบันเราสามารถนำไม้ไผ่มาจักรสานทำเป็นอาชีพหารายได้ให้แก่ครอบครัว และยังเป็นงานที่เราส่งออกไปขายอยู่นอกประเทศสำหรับคนไทยเราแล้ว งานที่ใช้ฝีมือถือว่าเป็นงานที่ประณีตระเอียดและสวยงามมาก
ประโยชน์ของไม้ไผ่
1. ด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติ
- ป้องกันการพังทลายของดินตามริมฝั่ง
- ช่วยเป็นแนวป้องกันลมพายุ
- ชะลอความเร็วของกระแสน้ำป่าเมื่อฤดูน้ำหลากกันภาวะน้ำท่วมฉับพลัน
- ให้ความร่มรื่น
- ใช้ประดับสวน จัดแต่งเป็นมุมพักผ่อนหย่อนใจในบ้านเรือน
2. ประโยชน์จากลักษณะทางฟิสิกส์
จากความแข็งแรง ความเหนียว การยืดหด ความโค้งงอ และการสปริงตัว ซึ่งเป็นคุณลักษณะประจำตัวของไม้ไผ่ เราสามารถนำมันมาใช้เป็นวัสดุเสริมในงานคอนกรีต และเป็นส่วนต่างๆ ของการสร้างที่อยู่อาศัยแบบประหยัดได้เป็นอย่างดีอีกด้วย
3. ประโยชน์จากลักษณะทางเคมีของไม้ไผ่
- เนื้อไผ่ใช้บดเป็นเยื่อกระดาษ
- เส้นไยใช้ทำไหมเทียม
- เนื้อไผ่บางชนิดสามารถสกัดทำยารักษาโรคได้
- ใช้ในงานอุตสาหกรรมนานาชนิด
4 การใช้ไม้ไผ่ในผลิตภัณฑ์หัตถกรรม และอุสาหกรรม แบ่งออกได้ ดังนี้ ผลิตภัณฑ์เครื่องจักสานจากเส้นตอก ได้แก่ กระจาด กระบุง กระด้ง กระเช้าผลไม้ ตะกร้าจ่ายตลาด ชะลอม ตะกร้าใส่ขยะ กระเป๋าถือสตรี เข่งใส่ขยะ เครื่องมือจับสัตว์น้ำ เช่น ข้องใส่ปลา ลอบ ไซ ฯลฯ
ผลิตภัณฑ์จากลำต้น และกิ่งของไม้ไผ่ ได้แก่ เก้าอี้ โต๊ะ ชั้นวางหนังสือ ทำด้ามไม้กวาด ไม้เท้า คันเบ็ด ราวตากผ้า โครงสร้างบ้านส่วนต่างๆ ทำแคร่ นั่งร้านก่อสร้าง ท่อส่งน้ำ รางน้ำ
ผลิตภัณฑ์จากเนื้อไม้ไผ่ ได้แก่ ถาดใส่ขนม ทัพพีไม้ ตะเกียบ ไม้เสียบอาหาร
กรอบรูป ไม้ก้านธูป ไม้พาย ไม้เกาหลัง เครื่องดนตรี พื้นบ้าน ไม้บรรทัด
ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากไผ่ซีกได้แก่ โครงโคมกระดาษ โครงพัด โครงร่ม ลูกระนาด
คันธนู พื้นม้านั่ง แผงตากปลา สุ่มปลา สุ่มไก่
5. ประโยชน์ทางด้านการบริโภค เช่น การนำหน่อไม้ไผ่มาทำเป็นอาหาร ไม่ว่าจะเป็นซุบ แกง ต้ม หรือนำมาดองจิ้มน้ำพริก
ไม้ไผ่กับวัฒนธรรม
คนไทยมีชีวิตความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย รักธรรมชาติ ยิ้มแย้มแจ่มใสใจดี รักศิลปะ เสียงเพลงและดนตรี มีนิสัยอ่อนโยนอ่อนน้อมถ่อมตนและสามารถปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์และสภาพแวดล้อมได้เป็นอย่างดีมีภูมิปัญญาสามารถนำสิ่งที่ใกล้มือในท้องถิ่นมาประดิษฐ์เป็นเครื่องมือใช้สอยในชีวิตประจำวันได้อย่างสวยงามโดยเฉพาะไม้ไผ่ เป็นวัตถุดิบจากธรรมชาติที่มนุษย์นำมาใช้ประโยชน์โดยตรงหรือแปรรูปให้เป็นเครื่องมือเครื่องใช้ในการดำรงชีวิต คนไทยรู้จักคุ้นเคยและมีความผูกพันอย่างชนิดแยกไม่ออกมาตั้งแต่เกิดจนตาย กลายเป็นวัฒนธรรมสืบทอดกันต่อมา "ไผ่" เป็นชื่อพันธุ์ไม้พวกหนึ่ง พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ กล่าวว่า ไผ่เป็นชื่อพรรณไม้พวกหนึ่ง ( Bambusa spp.) อยู่ในวงศ์ Graminese เป็นกอ ลำต้นสูง และเป็นปล้องๆ มีหลายชนิดมากกว่า ๑,๒๕๐ ขนิด ๕๐ ตระกูล เช่น ไผ่จีน ไผ่ป่า ไผ่สีสุก ไผ่เลี้ยง ไผ่ดำ เป็นต้น ไม้ไผ่เป็นพันธุ์ไม้ที่มีลักษณะเฉพาะที่แปลกไปจากพืชและพันธุ์ไม้อื่นๆ เพราะแม้ว่าไผ่มีลักษณะที่ควรจะเป็นต้นไม้ แต่ไผ่กลับถูกจัดเป็นหญ้าประเภทหนึ่ง และเป็น "หญ้ายักษ์" เพราะลำต้นสูง กลวงเป็นปล้องๆ หากสังเกตให้ดีจะเห็นว่าใบไผ่คล้ายกับใบหญ้า ไผ่ขยายพันธุ์ด้วยการแตกหน่อ เพราะหนึ่งในร้อยปีไผ่จึงอาจจะออกดอกสักครั้ง และหลังจากออกดอกแล้วก็ตาย ไผ่จะเติบโตอย่างรวดเร็วและจะโตเต็มที่ภายในสองเดือน และจะคงขนาดเช่นนั้นไปตลอดชีวิตของมัน ลำต้นของไผ่จะมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางตั้งแต่ ๐.๗ - ๗ นิ้ว สูง ๑ - ๖๐ ฟุต ไผ่ขึ้นได้ทั้งในบริเวณที่มีอากาศอบอุ่นและอากาศเย็นต่ำกว่าศูนย์องศา ไผ่จึงเป็นไม้ที่มีมากในบริเวณเอเซียและแปซิฟิค อเมริกาใต้บางท้องถิ่น
คุณลักษณะพิเศษของ "ไผ่"
๑.ไผ่โตเร็วสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ภายในเวลา ๑ - ๔ ปี และใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน ตั้งแต่รากไผ่เป็นสมุนไพรอย่างหนึ่งที่ใช้เป็นยารักษาโรคได้ หนิอไผ่หรือหน่อไม้ใช้ทำอาหาร กาบหรือใบไผ่ใช้ห่ออาหารหรือหมักปุ๋ย กิ่งและแขนงใช้ทำรั้ว ลำต้นใช้ประโยชน์ได้สารพัดอย่าง ตั้งแต่นำมาใช้ปลูกสร้างที่พักอาศัยและแปรรูปเป็นเครื่องจักสานและเครื่องมือเครื่องใช้นานาชนิดจนถึงนำมาใช้เกี่ยวกับความเชื่อและพิธีกรรมต่างๆ ตั้งแต่เกิดจนตาย คังนั้นชาวนาจึงมักปลูกไผ่ตามหัวไร่ปลายนา และปลูกไว้รอบๆบ้าน เพื่อใช้เป็นรั้วบ้านและป้องกันพายุ เพราะไม้ไผ่จะลู่ตามลมไม่หักโค่นเหมือนไม้อื่น หากปลูกไผ่ไว้ตามริมแม่น้ำลำคลอง จะช่วยชะลอความเร็วของกระแสน้ำไม่ให้ดินพัวทะลายง่าย นอกจากนี้ไผ่ยังใช้เป็นอาหารในครัวเรือนได้ด้วย
๔. ไม้ไผ่มีความสวยงามในตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นผิวที่มีสีต่างๆ กันเมื่อแห้งแล้วมักจะมีสีเหลืองอยู่เช่นนั้นตลอดไป ด้วยคุณสมบัติพิเศษนี้ ชาวเอเซียจึงใช้เหล็กหรือโลหะเผาไฟจนร้อนแล้วเขียนตัวอักษรหรือลวดลายลงบนผิวไม้ไผ่ ( Bamboo Pyrographic ) เช่นจีนจารึกบทกวีบนผิวไม้ไผ่ ชาวญี่ปุ่นใช้เขียนชื่อเจ้าของบ้านแขวนไว้หน้าบ้านและจารึกบทกวีแขวนไว้สองข้างประตูเรือนน้ำชา ( Tea House ) ชาวเกาหลีใช้เขียนเป็นลวดลายบนเครื่องใช้ เช่นเดียวกับที่ชาวบาตัก ( Batak) ในประเทศอินโดนีเซีย ใช้เหล็กเผาไฟ ขูด ขีด เขียน ลงบนกระบอกไม้ไผ่ สำหรับเก็บยาหรือทำเป็นปฏิทิน ในขณะที่ชาวบาหลีใช้จารลงบนผิวไผ่เป็นแผ่นๆ เพื่อใช้เป็นคัมภีร์ในศาสนาตน นอกจากไม้ไผ่จะมีผิวสวยแล้ว เนื้อไผ่ยังมีลักษณะพิเศษต่างจากเนื้อไม้อื่นคือ มีเสี้ยนยาวขนานกันเป็นเส้น จึงแปรรูปเป็นเส้น เป็นปื้น หรือเหลาให้กลมได้ง่าย และเมื่อแก่เต็มที่แล้วจะเป็นเส้นละเอียดแข็ง มอดแมลงไม่กินจนมีผู้กล่าวว่า เครื่องจักสานไม้ไผ่นั้น ผู้สานสามารถสานให้เป็นรูปทรงแปลกๆ แตกต่างกันได้มากมาย จนเครื่องจักสานบางชิ้นมีรูปทรงและผิวสวยงามดุจงานประติมากรรมสมัยใหม่ทีเดียว
เครื่องมือเครื่องใช้
งานไม้ไผ่ที่ใช้เป็นเครื่องมือเครื่องใช้ในครัวเรือนและชีวิตประจำวัน งานไม้ไผ่ประเภทนี้มีความเกี่ยวเนื่องกับชีวิตมนุษย์มาช้านานและอาจจะเป็นเครื่องใช้ในครัวเรือนที่เก่าแก่ที่สุดอย่างหนึ่ง เฉพาะอย่างยิ่งชาวตะวันออกนั้น มีเครื่องมือเครื่องใช้ที่ทำด้วยไม้ไผ่มาแต่โบราณ เช่น ตะเกียบไม้ไผ่ของจีน เป็นเครื่องมือการกินอาหารที่ทำอย่างง่ายๆ แต่ใช้ประโยชน์ได้อย่างดี ก่องข้าวและกระติบสำหรับใส่ข้าวเหนียวของชาวอีสานและชาวเหนือ เป็นตัวอย่างที่ดีซึ่งแสดงให้เห็นความชาญฉลาดในการนำไม้ไผ่มาแปรรูปเป็นภาชนะสำหรับใส่ข้าวเหนียวนึ่งได้ดีเท่าก่องข้าวและกระติบที่สานด้วยตอก
นอกจากนี้ยังใช้ทำเครื่องใช้สอยในครัวเรือน เช่นตะกร้า กระจาด สาแหรก กระบอกเป่าไฟ กระชอน ตะเกียบ ชะลอม ที่เสียบมีด กระบอกเก็บสาก ทัพพี ช้อน ตะหลิว ทำพัด ตับปิ้งปลา ทำฟืน ด้ามเครื่องมืออื่นๆ เครื่องจักสาน ของที่ระลึกเครื่องเขิน ทำโครงร่ม ไม้กวาด ใช้เป็นไม้ค้ำยันในการทำการเกษตร เช่นไม้ค้ำต้นส้ม ค้ำผัก ค้างถั่ว ฯลน ไม้ไผ่ยังใช้เป็นหลักปักกองฟาง ใช้ทำเข่งบรรจุผลไม้ บรรจุใบชา ของป่าต่างๆ ทำหุ่นหรือลูกบวบหนุนเรือนแพล่องไม้ไม่ให้จม บุ้งกี๋ กระพ้อม เสียม เสื่อลำแพน ทำท่อ ทำโต๊ะ เก้าอี้ และเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งภายในบ้านยาและอื่น ๆ
ไม้ไผ่ที่ใช้เป็นยารักษาโรค คนไทยใช้รากไผ่ และใบไผ่ผสมกับสมุนไพรบางชนิดใช้เป็นยารักษาโรคไม้ไผ่ที่นำมาทำอาหาร คนไทยและชาวเอเซียนำหน่อไม้มาทำเป็นอาหารต่างๆ จนถึงใช้กระบอกไม้ไผ่เป็นภาชนะประกอบอาหาร ได้แก่ ใช้เป็นกระบอกข้าวหลาม เป็นต้น
ไม้ไผ่ที่นำมาใช้ในงานอุตสาหกรรม ไม้ไผ่เป็นวัตถุดิบที่หาได้ไม่ยาก และมีราคาไม่แพง ชาวเอเซียจึงนำไม้ไผ่มาประดิษฐ์เป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เป็นจำนวนมาก ทั้งที่เป็นอุตสาหกรรมในครอบครัวประเภทเครื่องจักสาน เครื่องเรือน และเครื่องใช้ต่างๆ จนถึงใช้เป็นวัตถุดิบที่ใช้ในงานอุตสาหกรรม เช่น ใช้ทำเยื่อกระดาษ ใช้เป็นเครื่องเรือนและเครื่องใช้ที่ผลิตด้วยเครื่องจักร
ไม้ไผ่เป็นคติสอนใจ เมื่อเจริญเติบโตเป็นกอใหญ่ก็แตกหน่อทวีคูณขึ้นเรื่อยๆลำต้นที่เป็นแม่เปรียบเสมือนหัวแม่มือให้ลูก(หน่อ) แม่จะหาอาหารมาทำนุบำรุงให้เจริญเติบโตแก่ลูกแล้วก็ตายไป แต่ก็ยังมีน้องต่อไปอีก เหมือนนิ้วชี้ นิ้วกลาง นิ้วนางและนิ้วก้อย แม่จะมีส่วนเลี้ยงหน่อไม้รวมทั้งลูกคนแรกด้วย จนวาระสุดท้ายที่เรียกว่า "กอไผ่ตายขุยทั้งกอ" เมล็ดไผ่ก็จะงอกเจริญเติบโตเป็นลำไผ่ แตกเป็นกอตามธรรมชาติอีกนับว่า กอไผ่เป็นระบบสังคมที่มีวัฒนธรรมไม่ผิดกับวัฒนธรรมของมนุษยชาติ
คำพังเพยที่ว่า "ไผ่ลำเดียวไม่เป็นกอ ปอต้นเดียวไม่เป็นป่า " จะเห็นว่าไผ่แต่ละลำของกอไผ่นั้นต่างช่วยเหลือประคับประคองซึ่งกันและกัน โอกาสที่ลมพายุจะพัดให้โค่นล้มนับว่าเป็นไปได้ยาก เนื่องจากมีลำต้นคอยพยุงค้ำจุนและยึดเหนี่ยวกันอยู่ ผิดกับต้นไม้ใหญ่ๆ ที่อยู่โดดเดี่ยวจะถูกลมพายุพัดพาหักโค่นลงได้ง่าย ด้วยเหตุนี้ ครูจึงสอนนักเรียนในเรื่องความสามัคคีว่า แขนงไผ่อันเดียวหักได้ ถ้าเอาแขนงไผ่หลายๆ อันมามัดรวมกันไม่สามารถจะหักออกได้ ครูหลายคนบอกว่าการสั่งสอนอบรมนักเรียนให้เป็นคนดี ขยันหมั่นเพียรอยู่ในระเบียบวินัยต้องอาศัย " ต้นยอ กอไผ่ " หมายความว่า ครูต้องรู้จักชมเชยสรรเสริญเยินยอนักเรียนที่กระทำความดี เพื่อให้เกิดกำลังใจและเป็นตัวแอย่างที่ดีแก่คนอื่นด้วย ถ้านักเรียนคนใดชมก็แล้ว เอาใจก็แล้ว ยังดื้อด้าน เถลไถลออกนอกลู่นอกทางก็ต้องใช้กอไผ่ (เรียวไผ่) เสียบ้างให้หราบจำ เพราะคำโบราณที่ว่า "รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี " ยังมีประโยชน์อยู่